โรคกระดูกสูงวัยต้องระวัง

กระดูกเป็นโครงสร้างสำคัญของร่างกาย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ที่ปัญหานี้มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นแล้วจะมีอาการที่หนัก และอาจทำให้เสียชีวิตได้

นพ.พิศิฐ อิสรชีววัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยว ชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์ส่งเสริมฟื้นฟูสุขภาพผู้สูงอายุ สภากาชาดไทย กล่าวว่า ปัญหาเรื่องกระดูกในผู้สูงอายุไทย มักพบภาวะกระดูกพรุน ที่ไม่เกี่ยวกับอุบัติเหตุ หรือการยกของหนัก โดยภาวะกระดูกพรุนจะเจอในผู้สูงอายุกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งภาวะนี้ ถ้าไม่มาตรวจกับแพทย์ ก็จะไม่รู้ตัว จนปล่อยให้มีอาการหนักขึ้นเรื่อยๆ

โดยกระดูกพรุน จะไม่มีอาการปวด แต่จะเกิดเมื่อผู้สูงอายุไปกระแทกกับสิ่งต่างๆ ในการใช้ชีวิตประจำวัน จนทำให้มีอาการกระดูกหักเกิดขึ้น และหลังจากนั้นแพทย์จะตรวจรู้ว่า มีอาการกระดูกพรุน ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการเหล่านี้

การหลีกเลี่ยงภาวะกระดูกพรุน ต้องมาจากการทานอาหารที่ดี โดยเฉพาะอาหารที่มีโปรตีน และต้องเพิ่มอาหารที่มีแคลเซียม รวมถึงวิตามินดี เพราะจากประสบการณ์ของหมอ ผู้สูงอายุมักมีปัญหาเกี่ยวกับฟัน ที่เคี้ยวไม่ค่อยได้ ทำให้ขาดสารอาหารจากเนื้อสัตว์

ดังนั้น จึงต้องดื่มนมวัวทดแทน แต่ผู้สูงอายุหลายท่าน มักไม่ดื่ม เนื่องจากส่วนนึงไม่เห็นความสำคัญ ขณะที่อีกหลายคนเมื่อดื่มเข้าไปแล้วก็เกิดอาการท้องเสีย เหตุจากน้ำย่อยของคนที่ไม่ได้ดื่มนมวัวมาเป็นระยะเวลานาน จะทำงานได้ไม่ดี เมื่อกลับมาดื่มนมอีกครั้ง หลายคนจะมีอาการท้องเสีย ซึ่งบางคนไม่รู้ พอท้องเสียครั้งแรก เลยไม่ดื่มอีก ทั้งที่จริง ถ้าดื่มไปเรื่อยๆ จะทำให้กระเพาะอาหารของเราค่อย ๆ ปรับตัว

ผู้สูงอายุจึงจำเป็นต้องดื่มนมวัว เพื่อเพิ่มแคลเซียม เพราะถ้าทานแต่ผัก อาจมีแคลเซียมอยู่ แต่แคลเซียมบางชนิดในผัก ดูดซึมเข้าไปในร่างกายได้น้อยกว่าแคลเซียมในนมวัว

ขณะที่วิตามินดี มีทั้งที่ร่างกายสังเคราะห์เองได้ จากการตากแดด แต่บางคนก็ทาครีมกันแดด เลยเป็นตัวที่ปิดกั้นไม่ให้ร่างกายได้สังเคราะห์วิตามินดีจากธรรมชาติ นี่จึงทำให้หลายคนมีภาวะกระดูกพรุน ที่เจอได้เยอะขึ้นเมื่อมีอายุมาก

“แต่ในภาวะเดียวกัน หากโดนแดดจัดมาก ๆ ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งผิวหนังได้ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุ ดังนั้นควรตากแดดแต่พอดี เพราะวิตามินดี จะหาได้จากอาหารที่ทานเข้าไปยาก เพราะร่างกายของเราสังเคราะห์ได้เอง แต่ถ้าหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ อาจต้องซื้อวิตามินดี ที่เป็นอาหารเสริมมาทานแทนได้”

แต่สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างมวลกระดูก ด้วยการออกกำลังกาย ที่จะมีการดูดซึม ในการออกกำลังกายที่แตกต่างจากอวัยวะอื่นๆ แต่จะต้องออกกำลังกายให้มีแรงกระแทก ด้วยการลงน้ำหนัก ถึงจะมีการดูดซึมสารอาหารเข้าไปในตัวกระดูกได้

ซึ่งการป้องกันที่ดี ของคนที่ยังไม่เข้าสู่วัยชรา หรือยังไม่มีภาวะโรคกระดูกพรุน ควรออกกำลังกายที่มีแรงกระแทกบ้าง เพื่อให้เกิดการดูดซึมเข้าไปในกระดูก เช่น ยกเวท 3 วัน/สัปดาห์

“ภาวะกระดูกบาง มักเจอในกระดูกข้อตะโพก และกระดูกสันหลัง ส่วนนี้ถือว่าสำคัญอย่างมาก เพราะถ้ากระดูกส่วนนี้หัก อาจมีผลต่อชีวิต เพราะถ้ากระดูกตะโพกหัก จะทำให้คนไข้เดินไม่ได้ แต่ถ้าเป็นกระดูกสันหลังหัก จะมีผลทำให้เสียชีวิตได้”

ส่วนที่ข้อไหล่ เป็นอีกจุดที่น่าเป็นห่วง เพราะหลายคนมีปัญหาข้อไหล่ติด ไม่สามารถยกมือขึ้นทั้งสองข้างได้ ซึ่งคนไข้หลายคนยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับปัญหาเรื่องกระดูกกับข้อ เพราะถ้าเป็นโรคข้อเข่าเสื่อม การกินแคลเซียมก็ไม่ได้ช่วยอะไรมาก เนื่องจากปัญหาของข้อเกิดจากกระดูกที่เป็นแผ่นรองภายในข้อ

โดยปัญหาเรื่องของข้อเข่า เกิดจากน้ำหนักตัวที่เกินปกติ หรือมีการ ใช้งานที่เยอะตั้งแต่อายุยังน้อย เช่นนักกีฬา หรือคนที่ต้องยกของหนัก ซึ่งในกลุ่มของคนที่น้ำหนักเกินจะทำให้ออกกำลังกายยาก เพราะจะมีอาการเจ็บปวด ดังนั้นคนไข้ที่เป็น เลยต้องควบคุมอาหารเป็นหลัก

ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

ท่านสามารถแสดงความคิดเห็นด้วยระบบ Facebook comment